ความเป็นมาของวิทยาลัย

โรงเรียนพณิชยการจรัลสนิทวงศ์ (ชื่อเดิม) ตั้งอยู่เลขที่ 18 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอย 41 แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10700 มีเนื้อที่ 4 ไร่ 79 ตารางวา เปิดดำเนินการโดย นายตระกุล รัชตะหิรัญ เป็นผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้งสถานศึกษา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2513 และมี นายก่อเกียรติ พานิชกุล เป็นผู้จัดการ ต่อมา นายตระกูล รัชตะหิรัญ ได้มอบหมายให้ พันตรีวิทยา เงินวัฒนา เข้าดำเนินการแทน เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2515 และได้ปรับการบริหารงานสถานศึกษาพร้อมกับเชิญ อาจารย์สัณห์ พรนิมิต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนพณิชยการธนบุรี มาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และมี นางศิริมา พรนิมิต เป็นผู้จัดการนับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2517 เป็นต้นมา และมีภาพรวมดำเนินงานสถานศึกษาดังนี้

ปรัชญาวิทยาลัย คือ “ทักษะเลิศ ประเสริฐรู้ ผู้ประพฤติชอบ กอปรเป็นเรา ชาวจรัล”

ดร. ศิริมา พรนิมิตร, ประธานกรรมการบริหาร
  • ปีการศึกษา 2513

    โรงเรียนพณิชยการจรัลสนิทวงศ์ เป็นสถานศึกษาประเภทอาชีวศึกษา ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเปิดรับสมัครนักเรียน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนกวิชาบัญชี การเลขานุการ เริ่มแรก เปิดรับเฉพาะนักเรียนชาย ทำการสอนเฉพาะรอบเช้า ระหว่าง 8.30 – 16.30 น. และเปิดรับนักเรียนหญิงเข้าเรียนด้วยตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2513 เป็นต้นมา
  • ปีการศึกษา 2519

    สถานศึกษาได้ทำการขยายการเรียน เป็น 2 รอบ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2519 โดยมี รอบเช้า เปิดเรียนเวลา 7.30 – 13.30 น. และ รอบบ่าย เปิดเรียนเวลา 14.00 – 19.40 น. แบ่งเป็น 3 ภาคเรียน รับนักเรียนรอบละ 600 คน ในครั้งแรกมีอาคารเรียนเป็นตึก 4 ชั้น จำนวน 1 หลัง จำนวน 12 ห้องเรียน
  • ปีการศึกษา 2520-2525

    สถานศึกษาได้สร้างอาคารไม้ชั้นเดียว เพิ่มขึ้นอีก 2 หลัง และรับนักเรียนเพิ่มได้อีก 10 ห้องเรียน และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2522 ได้สร้างอาคาร 2 ชั้นเพิ่มอีก 1 หลัง โดยชั้นล่างของอาคารใช้เป็นโรงอาหาร ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้สร้างอาคารเรียนเพิ่มอีก 1 หลังเป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น ในด้านการสอน ได้เปิดดำเนินการสอนภาคฤดูร้อนทั้ง ระดับ ปวช. และ ปวส. ทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา
  • ปีการศึกษา 2526

    โรงเรียนพณิชยการจรัลสนิทวงศ์ ได้ขยายหลักสูตร ระดับ ปวส. คณะบริหารธุรกิจ แผนกวิชาการบัญชี และวิชาการตลาด เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2525 และได้เพิ่มหลักสูตรแผนกวิชาการจัดการ และแผนกวิชาเลขานุการ ขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2526 รวมทั้งได้เปิดหลักสูตร สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจในปีการศึกษา 2527 ซึ่งนับว่าเป็นสถานศึกษาประเภทอาชีวศึกษาอันดับแรกๆ ในประเทศไทย ที่มุ่งมั่นพัฒนาการจัดการสอนด้วยการใช้เทคโนโลยีการจัดการศึกษาที่ทันสมัยอีกด้วย
  • ปีการศึกษา 2554

    โรงเรียนพณิชยการจรัลสนิทวงศ์ ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) เมื่อปี พ.ศ. 2554 ให้เป็นชื่อภาษาไทยคือ “วิทยาลัยเทคโนโลยีจรัลสนิทวงศ์” โดยมีชื่อย่อคือ “ว.ท.จ.” และมีชื่อภาษาอังกฤษคือ “Charansanitwong Technological College” โดยมีชื่อย่อคือ “CTC”

วิสัยทัศน์ของวิทยาลัย

CTC เป็นสถานศึกษาที่มุ่งมั่นความเป็นเลิศทางวิชาชีพและภาษาต่างประเทศโดยร่วมมือกับสถานประกอบการจัดการเรียนการสอนให้เป็นที่ยอมรับในสังคมธุรกิจ

CTC is an education institution aiming to strive for excellence in vocation and language training and to provide well-trained workforce through collaboration with real sector.

ปณิธานของวิทยาลัย “วิชาการดี มีจริยธรรม”

วิทยาลัยมุ่งมั่นจัดการศึกษาพัฒนาผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษาให้มีคุณภาพมีทักษะความเชี่ยวชาญทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ รวมทั้งเป็นผู้ที่มีความประพฤติดีงาม มีกริยามารยาทที่ดีเป็นบุคคลที่พึงประสงค์ของสังคมและสถานประกอบการ

อัตลักษณ์ของวิทยาลัย “รู้คิด จิตอาสา”

การรู้คิด หมายถึง ผู้สำเร็จการศึกษาต้องเป็นบุคคลที่รู้จักคิดหาความรู้ความก้าวหน้าในด้านวิชาการต่างๆ ทั้งวิชาการที่กำลังเรียน และความรู้รอบตัว นักเรียนจะต้องเป็นบุคคลที่มีความตระหนักรู้และมีกระบวนการคิดหาความรู้รอบด้าน รู้จักใช้ชีวิตอย่างมีสติไม่ประมาทรู้จักนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่นด้วยสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดกับสังคมได้

จิตอาสา ผู้สำเร็จการศึกษาจะต้องมีจิตอาสาหรือจิตสาธารณะคิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตน พร้อมจะช่วยเหลือผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่าตนอยู่เสมอ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีจิตสำนึกที่ดี มีความเสียสละ มีน้ำใจและมีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนร่วมชาติ

เอกลักษณ์ของวิทยาลัย “รู้คิด จิตดีงาม”

การรู้คิด หมายถึง ผู้เรียนรู้จักคิดหาความรู้ ความก้าวหน้าในด้านวิชาการต่างๆ ทั้งวิชาที่กำลังเรียน และความรู้รอบตัว นักเรียนจะต้องเป็นบุคคลที่มีความตระหนักรู้และมีกระบวนการคิด หาความรู้รอบด้าน รู้จักใช้ชีวิตอย่างมีสติไม่ประมาท รู้จักนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นด้วย สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดกับสังคมได้

จิตดีงาม หมายถึง ผู้เรียน เป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักกาลเทศะ มีสัมมาคารวะ เป็นผู้มีมารยาทดีงามวางตนเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย มีคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้ง เป็นบุคคลมีความรู้สึกนึกคิดที่ดี มีเชาว์ปัญญา ความสำนึกดี ความมีสติ ที่จะปรับตัวให้มีความสุขอยู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ดีมีสัมพันธภาพอันดีงามกับบุคคลอื่น มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นรวมทั้งสังคมแวดล้อมต้องเดือดร้อน เพราะการกระทำของตน เรียกง่ายๆ ก็คือ “อยู่ให้ตัวเองมีความสุขในขณะเดียวกันก็ช่วยคนอื่นด้วย”

พันธกิจของวิทยาลัย

  • วิทยาลัยฯ เป็นสถานศึกษาที่เปิดสอนหลายสาขาวิชา ให้โอกาสกับผู้เรียนทุกสาขาอาชีพที่ต้องการพัฒนาตัวเอง
  • วิทยาลัยฯ เป็นสถานศึกษาที่มุ่งขยายความรู้ ความสามารถ ส่งเสริมการปฏิบัติจริงมีการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญภายนอก รวมทั้งการเปิดสอนสาขาต่างประเทศที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ คุณธรรม และจริยธรรม
  • จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอน การดูแลช่วยเหลือนักศึกษาจัดกิจกรรมและบริการวิชาชีพให้กับชุมชน
  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรศึกษาต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่องค์กรจัดอบรมบุคลากรให้มีจรรยาบรรณทางวิชาชีพครู เพื่อพัฒนางานได้อย่างเต็มที่
  • ดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารจัดการเพื่อพร้อมรับการประเมินคุณภาพจาก สมศ.

เป้าหมายของวิทยาลัย

  • นศ. จบหลักสูตรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 และเป็นผู้มีงานทำ/ศึกษาต่อไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
  • นศ. สามารถใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
  • วิทยาลัยฯ สร้างความร่วมมือกับธุรกิจในการจัดการเรียนการสอนอย่างน้อยสาขาละ 1 แห่ง
  • วิทยาลัยฯ จัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาเก่ง ดี มีสุข และมีทักษะด้านวิชาชีพ เป็นที่พึงพอใจของสถานประกอบการเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในอาชีพ
  • บุคลากรมีความสามารถด้านวิชาชีพ การใช้ภาษาต่างประเทศและเทคโนโลยี เพื่อการสอนการวิจัย และจัดทำนวัตกรรม
  • วิทยาลัยฯ เป็นสถานศึกษาสีขาวด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด วิทยาลัยฯ มีการบริหารจัดการด้านขวัญและกำลังใจของบุคลากรในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
  • วิทยาลัยฯ มีแผนและการบริหารจัดการทรัพยากร พร้อมทั้งการจัดสถานที่ สภาพแวดล้อม และการบริการให้ทันสมัย สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอน

มุ่งมั่นสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

เราจัดการศึกษาด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย
40000 ราย

ผู้สำเร็จการศึกษา

65 ท่าน

อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ

9 สาขาวิชา

หลักสูตรที่เปิดสอน

1500 คน

ผู้สมัครเรียนแต่ละปี